นาฬิกา

ปฏิทิน

ลูกศร

cursor

ผู้ติดตาม

friend

เต่ามะเฟือง

รีสอร์สสวยๆ ที่แทรกตัวเข้ามาแนบชิดชายหาด หรือแบบที่แทบจะก้าวออกจากที่พัก แล้วปลายเท้าสัมผัสน้ำทะเลสีครามได้เลย ยิ่งเป็นความใฝ่ฝันของนักท่องเที่ยวที่ต้องการกลืนตัวเองเข้ากับธรรมชาติ นับเป็นการเสพความสุขจากหาดสาย สายลม และท้องทะเล โดยแกล้งลืมไปว่าได้ย่ำยีธรรมชาติอย่างไรบ้าง
















แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติจะมีส่วนในการพัฒนาสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตและคัดเลือกผู้อยู่รอด แต่สาเหตุหลักที่เปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านั้นอย่างไม่สมควร ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากน้ำมือของมนุษย์ จะมีสักกี่ชีวิตที่เอาตัวรอดจากสิ่งเหล่านี้ มาเป็นเวลานานนับร้อยล้านปี เฉกเช่น เต่ามะเฟือง (Leatherback Turtle, Leathery turtle) เต่ายักษ์นักเดินทาง ที่เราอยากตามรอยท่องท้องทะเลทั่วโลกไปกับมัน















มีหลักฐานวาเต่าทะเลเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ ที่อยู่มานานมากว่า 130 ล้านปี โดยทั่วไปการแพร่กระจายของเต่าทะเลพบเฉพาะในเขตร้อนและเขตอบอุ่น เต่าทะเลทั่วโลกที่พบมีอยู่ 8 ชนิดด้วยกัน คือ เต่ากระ (Erethmochelys imbricata), เต่าตนุ (Chelonia mydas), เต่าตนุหลังแบน (Chelonia depressa ), เต่าหัวค้อน (Caretta Caretta), เต่าหญ้า (Lepidochelys olivacea) เต่าหญ้าแอตแลนติก (Lepidochelys kempii) และเต่าดำ (Chelonia agassizii ) และสุดท้าย เต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea)















สกอตต์ เอ็กเกิร์ต จากเครือข่ายอนุรักษ์เต่าทะเลไวเดอร์แคริบเบียน กล่าวว่า "ตอนที่ ที.เร็กซ์. ครองความเป็นเจ้านักล่าบนพื้นพิภพ พวกมันก็คลานต้วมเตี้ยมบนชายหาดเเล้วครับ" (Nation Geographic พฤษาคม 2552) นี่คือคำยืนยันว่า เต่ามะเฟือง อยู่บนโลกสีน้ำเงินใบนี้มายาวนานแค่ไหน



 
 


เต่ามะเฟือง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า DERMOCHLYS CORIACEA เป็นเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ตัวโตเต็มที่อาจมีขนาดมหึมาถึง 2 เมตรกว่า และทำน้ำหนักได้ราวๆครึ่งตันเลยทีเดียว วางไข่ครั้งละ ประมาณ 66 -104 ฟอง ไข่มีสีขาวออกแดงเรืองๆ ขนาดไม่ธรรมดาจะใหญ่กว่าเต่าทะเลชนิดอื่น ๆ คือมีขนาดความยาวรอบ 2.5 นิ้ว ใช้เวลาฟักเป็นตัวราว 60 วัน เมื่อลูกเต่าเกิดมันจะรีบคลานลงสู่ท้องทะเลในทันที ในช่วงอาทิตย์แรกเต่ามะเฟืองน้อยจะได้รับอาหารจากไข่แดงติดอยู่ ตลอดชีวิต เต่ามะเฟืองจะใช้ชีวิตในทะเลลึก ยกเว้นเพียงช่วงที่ต้องสืบพันธุ์จึงจะกลับเข้ามาตามชายฝั่ง
















กระดองของเจ้าเต่าชนิดนี้แตกต่างจากเต่าอื่นๆ โดยจะเข้ารูปพอดี ไม่ใหญ่ยื่นออกมานอกลำตัว ลักษณะคล้ายหนังนิ่มๆไม่เป็นเกล็ดแข็ง มีรูปทรงยาวรี มีแนวสันนูนตามแนวยาว สันบนหลังมี 6 แถว ยาวตลอดลำตัวด้านท้องมี 5 แถว ลำตัวมีสีดำจุดขาว ซึ่งมองแล้วคล้ายผลมะเฟือง และนี่ก็คือที่มาของชื่อมัน















ในอดีต นักวิทยาศาสตร์พบว่า เต่ามะเฟืองเป็นสัตว์ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อน แต่มันกลับแพร่กระจายไปทั่วโลก เต่ามะเฟืองมีถีชีวิตที่แตกต่างไปจากเต่าทะเลชนิดอื่นๆ ที่ดำรงชีวิตอยู่ในทะเลปิด เต่ามะเฟืองส่วนใหญ่ใช้ชีวิตล่องลอยอยู่ในทะเลเปิดที่ห่างไกลจากฝั่งมาก โดยเคลื่อนที่ไปกับกระแสน้ำ จะกลับเข้าฝั่งเฉพาะเมื่อวางไข่เท่านั้น มันเป็นยอดของการเป็นนักเดินทางที่ทรหดด้วยสรีระทั้งกระดองที่ยืดหยุดพอดีตัว และเพรียวลู่เล็กลงเป็นรูปหยอดน้ำ ทำให้มันว่ายน้ำได้อย่างคล่องแคล่ว ว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรได้ และยังดำน้ำได้ลึกกว่าหนึ่งกิโลเมตร ยามเดินทางที่ต้องอยู่ท่ามกลางอุณภูมิของน้ำที่หนาวเหน็บ จนแทบจะเป็นน้ำแข็ง ซึ่งน่าจะเป็นที่อยู่ของแมวน้ำหรือเพนกวินเท่านั้น มันสามารถทำร่างกายให้อบอุ่นได้ เพราะชั้นไข้มันหนาๆ และด้วยระบบของ การควบคุมการเปลี่ยนแปลงอุณภูมิในร่างกายของสัตว์ขนาดใหญ่ (gigantoterrmy) ที่จะเก็บกักพลังงานความร้อนไว้ในมวลร่างกายที่ใหญ่โตของมัน ในบางครั้งนักวิจัยพบว่า เลือดที่ไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงร่างกายและกลับจากบริเวณผิวหนังจะหยุดเป็นช่วงๆเพื่อเก็บความร้อนไว้ในลำตัว







การเดินทางที่ยาวไกล ปัญหาเรื่องปากท้องไม่ใช่สิ่งที่มันกังวล เต่ามะเฟืองสามารถปรับตัวและกินอยู่ได้ไม่ยากนักส่วนมากเต่ามะเฟืองชอบหากินอยู่ในทะเลลึก มันสามารถกินอาหารที่สิ่งมีชีวิตน้อยนักจะทนกินได้ กินแมงกะพรุน ทูนิเคท กุ้ง ปูปลา หญ้าทะเล รวมทั้งพวกเพรียงหัวหอมที่ล่องลอยอยู่ในทะเล อาหารโปรดของมันคือ แมงกะพรุน ที่หลอดอาหารของเต่ามะเฟืองจะมีหนามยาวราวเจ็ดเซนติเมตรเรียงรายอยู่เพื่อช่วยยึดจับเหยื่อที่ลื่นไหลได้







การแพร่พันธุ์ของเต่ามะเฟืองกระจายไปทั่วโลก เพราะมันไม่จำเป็นต้องวางไข่หรือหากินที่แหล่งเดิมๆ เราจึงสามารถพบมันกระจายไปได้ทั่วท้องทะเล ในฤดูวางไข่ประมาณตุลาคม-เดือนเมษายน เต่ามะเฟืองจะขึ้นวางไข่ในช่วงที่น้ำทะเลขึ้นเกือบสูงสุด โดยแม่เต่าท้องแก่จะคลานต้วมเตี้ยมจากทะเลขึ้นมาบนหาดทราย เลือกสถานที่วางไข่ที่มืดและเงียบสงบแล้วจึงขุดหลุม โดยพิจารณาจากอุณหภูมิของทราย การชุ่มน้ำ ความหยาบของเม็ดทราย และความละเอียดของชายหาด โดยมีปัจจัยที่สำคัญที่สุดคืออุณหภูมิของทราย เพราะหากเป็นไข่เต่าที่ฟักอยู่ในอุณหภูมิต่ำ เช่น ใต้ร่มไม้ ลูกที่เกิดมาส่วนใหญ่จะเป็นเพศผู้ แต่ถ้าถูกฟักด้วยอุณภูมิที่สูงลูกเต่าจะเกิดมาเป็นตัวเมีย แม่เต่าจึงเป็นผู้ตัดสินใจเลือกที่วางไข่ เพื่อให้ประชากรทั้งสองเพศมีความสมดุล




 
 




แล้วจึงทำการวางไข่มันใช้ขาหลังขุดทรายสร้างรัง แล้วค่อยๆเบ่งไข่ใส่เข้าไปในโพรง จากนั้นจึงกลบรังให้ราบเรียบ พร้อมทั้งสร้างรังในระยะห่างออกไปเพื่อลวงศรัตรู ก่อนคลานลงกลับมหาสมุทร แต่แน่นอนมนุษย์ย่อมไม่หลงกล การล่าไข่เพื่อเพื่อนำไปขายเป็นอาหาร หรือตามความเชื่อของคนบางกลุ่มที่ต้องการนำมาทำเป็นยากระตุ้นความต้องการทางเพศเป็นหายนะของเผ่าพันธุ์เต่ามะเฟือง มากกว่าฝูงนกที่คอยเฝ้าดูลูกเต่าตัวน้อยๆ ออกจากไข่มาเป็นอาหารของตน หรือนักล่าที่คอยอยู่นอกชายฝั่งอย่างเทียบกันไม่ติด


 
 
 






ใช่ว่าความเป็นยอดในการปรับตัวเพื่อหาถิ่นที่อยู่อาศัยใหม่ๆไกลออกไป จะช่วยให้มันไม่ต้องพบกับปัญหาถูกทำให้ประชากรที่ลดลง เพราะการรุกล้ำถิ่นที่อยู่อาศัยจากมนุษย์และการประมงนับว่ามีส่วนทำลายล้างจำนวนของเต่ามะเฟืองอย่างรุนแรง นอกจากนี้เต่ามะเฟืองจำนวนนับพันตัว ยังต้องตายเพราะติดเครื่องมือของชาวประมง ถูกเรือชน ถูกล่าเพื่อเอาเนื้อ จนสหภาพสากลว่าด้วยการการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (The World Conservation Union : IUCN) ต้องขึ้นบัญชีเต่ามะเฟืองเป็นสัตว์สงวนในบัญชีที่ 1ที่เสียงต่อการสูญพันธ์อย่างยิ่ง
















ในอดีตแหล่งที่ขึ้นชื่อว่าเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่มากที่สุดคือ บนหาด Terengganu (ตรังกานู) ทางตะวันออกของมาเลเซียใน ค.ศ. 1956 มีรายงานว่าพบไข่เต่ามะเฟือง10,155 รัง ประมาณว่ามีเต่ามะเฟืองในทะเลแถวนั้นมากกว่า 2,000 ตัว แต่ใน ค.ศ. 1995 มีเต่าขึ้นมาวางไข่เพียง 27 รัง ปัจจุบันจำนวนเต่ามะเฟืองที่เคยขึ้นมาวางไข่บนชาดหาดเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ตามแนวชายหาดมหาสมุทรแปซิฟิกของแมกซิโกและอเมริกากลางในปัจจุบันหาเงาของเตามะเฟืองได้ยากเต็มที















สิ่งที่น่าศึกษาคือ เหตุใดจำนวนเต่าในมหาสมุทรแอตแลนติกมีแนวโน้มกำลังเพิ่มขึ้น แต่ในมหาสมุทรแปซิฟิกกลับลดจำนวนลงอย่าน่าใจหาย ปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความอุดมสมบูรณ์ของอาหารในน่านน้ำแอตแลนติกเหนือ อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรมกิจกรรมการประมงของมนุษย์ที่ทำลายท้องทะเลส่วนใหญ่กลับมีผลทำให้แมงกระพรุนอันเป็นอาหารของเจ้าเต่ามะเฟืองอุดมสมบูรณ์ขึ้น หรืออาจเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปรากฏการณ์เรือนกระจก ปรากฏการณ์แอลนีโญ ที่ส่งผลต่อระบบนิเวศใต้ท้องทะเลแห่งนี้ หรืออาจบางทีนี่จะเป็นผลจากการที่นักอนุรักษ์ได้ร่วมมือกันทำให้มหาสมุทรแอตแลนติกน่าอยู่สำหรับเต่ามะเฟืองมากขึ้น















สำหรับประเทศไทย พบเต่ามะเฟืองได้ในน่านฝั่งทะเลอันดามันบริเวณจังหวัดพังงา และภูเก็ต ตามชายฝั่งบ้านทะเลนอก หาดกะรน หาดไม้ขาว หาดท้ายเหมือง แต่ก็พบเพียงน้อยนิดบางปีไม่มีเลยสักรังเดียว















ปัจจุบันมีนักวิทยาศาสตร์ และนักอนุรักษ์จำนวนไม่น้อยที่คอยรักษาชีวิตพวกมัน ทั้งการคุ้มครองชายหาดเพื่อให้ปลอดภัยพอให้แม่เต่าขึ้นมาวางไข่ การออกแบบอวนที่ขึงเพื่อล่าปลาของชาวประมงให้ติดเต่ามะเฟืองได้น้อยลง แต่การเพาะเต่าเพื่อปล่อยลงสู่ทะเลก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะอาจเกิดความเสียหายอย่างคาดไม่ถึงได้ เช่น เมื่อครั้งที่มีการพยายามนำไข่เต่ามาฟักเองแต่ไม่รู้ถึงผลกระทบของเรื่องอุณหภูมิ ทำให้ลูกเต่าเกือบทั้งหมดออกมาเป็นเต่าเพศเมียทั้งหมด หรือการที่เต่ามะเฟืองเป็นเต่าที่ดำรงชีวิตน้ำลึก จึงไม่สามารถเก็บมาอนุบาลได้เป็นเวลานาน ในเวลานี้ทั่วโลก จึงมักเลือกใช้วิธีปล่อยลูกเต่าทันทีที่ออกจากรัง ดังนั้นเเล้วเพื่อการอนุรักษ์ที่จะประสบความสำเร็จ นักวิชาการและนักอนุรักษ์ จึงต้องศึกษาวงจรชีวิตและวิธีอนุรักษ์ในรูปแบบต่าง ๆ ให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง






ขนาดเต่าสายพันธุ์อึดที่เป็นยอดของนักเอาตัวรอด ยังเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ขนาดนี้ แล้วลำพังสัตว์อื่น หรือโดยเฉพาะสัตว์ที่บอบบางในการมีชีวิต จะอาศัยอยู่บนโลกในเดียวกับมนุษย์นักทำลายล้างได้แค่ไหนกัน
















ข้อมูลอ้างอิง















ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเต่าทะเล ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ







เต่ามะเฟืองนักท่องโลก นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย







กำเนิด...เต่ามะเฟือง TalayThai.com







เต่าทะเล www.phangngacity.com







เต่ามะเฟือง วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี







เต่ามะเฟือง The Greater Phuket Magazine

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เรื่องน่ารู้ต่างๆ