ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิทยาศาสตร์จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับศาสตร์แห่งการพับกระดาษ ” โอริงามิ” ได้บอกเล่าถึงที่มาของโอริงามิ ว่า หากแปลเป็นไทย โอริงามิ ก็คือ การพับกระดาษที่เริ่มมีขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 50 ปีก่อน โดยเป็นการพับกระดาษเพื่อทำของประดับตกแต่งในพิธีกรรมทางศาสนาของประเทศญี่ปุ่น
ต่อมา โยชิซาวะ อากิระ ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็นปรมาจารย์และเป็นบิดาของโอริงามิจากผลงานการพับกระดาษรูป 12 นักษัตร และมีการพัฒนาการพับกระดาษเป็นรูปร่างต่าง ๆ ตามจินตนาการ มาอย่างต่อเนื่อง ผลงานแต่ละชิ้นล้วนมีความสวยงามอย่างน่าทึ่ง จึงทำให้มีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานทั้งในและต่างประเทศมากมาย จนถึงปัจจุบัน โอริงามิ กลายเป็นที่รู้จักและโด่งดังระดับโลกเลยทีเดียว
“ โอริงามิ ไม่ได้เป็นแค่การพับกระดาษเล่น ๆ หากแต่ยังสามารถนำไปใช้เป็นโมเดลในงานด้านต่าง ๆ อีกมากมาย อย่างเช่น การออกแบบลวดลายผ้าในงานด้านแฟชั่น การคิดกลไกของยานอวกาศในงานด้านยานอวกาศของประเทศญี่ปุ่น การจำลองทำบอลลูนรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจในงานทางการแพทย์ หรือแม้แต่งานด้านวิศวะในเรื่องกลไกเครื่องยนต์ ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน
สำหรับโอริงามิในประเทศไทยนั้น คนไทยก็เริ่มจะหันมาให้ความสนใจประมาณ 2 – 3 ปีที่แล้วครับ โอริงามิเหมาะกับทุกเพศทุกวัย เป็นการฝึกใช้ประสาทสัมผัสหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน เหมือนการฝึกสมาธิ ทำให้สามารถเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้สมอง สติปัญญาพัฒนาได้อย่างดี และเด็ก ๆ ยังสามารถจินตนาการได้อย่างกว้างไกล ซึ่งน้องๆ ก็สามารถฝึกพับแบบง่าย ๆ ได้ตั้งแต่ชั้นอนุบาลเลยครับ นอกจากนั้นยังสามารถใช้ในการบำบัดเด็กพิเศษได้ดีอีกด้วย ” ดร.บัญชากล่าว
ญดา หรือ นางสาวญดา เทพบุตร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในนักศึกษาที่สนใจในการพับกระดาษ เล่าว่า
“ได้ยินชื่อโอริงามิมานานแล้วค่ะ ทีแรกคิดว่าเป็นการพับกระดาษธรรมดา แต่พอได้มาลงมือทำจริงๆ ก็รู้สึกสนุกมากเลยค่ะ เพราะการพับกระดาษสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลายอย่างเลย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการออกแบบสิ่งของต่าง ๆ และยังฝึกให้เราได้ใช้ความอดทน ความตั้งใจ และที่สำคัญทำให้เรามีสมาธิมากขึ้นด้วยค่ะ วันนี้ได้มาฝึกพับนกเพนกวิน นกบินได้ แล้วก็คิดว่าจะเริ่มฝึกพับอย่างอื่น ๆ ต่อไปด้วยค่ะ เพราะเราสามารถจินตนาการได้อีกกว้างไกลและบางอย่างเราก็สามารถมาปรับใช้ในงานด้านวิทยาศาสตร์ได้ด้วยค่ะ”
ส่วน “บอส” หรือ นายอัครพล วัชราวิภาส นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้บอกเล่าความรู้สึกหลังจากได้ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่า
“วันนี้ผมได้เรียนรู้และได้ประโยชน์จากโอริงามิเยอะมากเลยครับ ทำให้ผมรู้ว่าโอริงามิสามารถนำมาใช้กับงานวิทยาศาสตร์ได้หลายอย่างเลยครับ ทั้งในเรื่องของชีววิทยา อย่างการพับลวดลายของใบไม้ในแบบต่าง ๆ พร้อมทั้งยังสามารถนำโมเดลของการพับกระดาษเพื่อใช้อธิบายการทดลองต่าง ๆ ได้อีกด้วย มันทำให้เห็นได้ว่าทุกอย่างย่อมมีที่มา มีเหตุและมีผลตามหลักของวิทยาศาสตร์ และสามารถพัฒนาจินตนาการได้ไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนอย่างที่ไอสไตน์บอกไว้ว่า จินตนาการสำคัญกว่าความคิด ทำให้เราสามารถสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะวิทยาศาสตร์เสริมสร้างสมองข้างขวา โอริงามิมาเติมเต็มเสริมสร้างสมองด้านซ้ายได้อย่างลงตัวครับ โอริงามิ มีอะไรมากกว่าที่เราเห็นอีกมากครับ นอกจากจะได้ผ่อนคลายในเรื่องของศิลปะ จินตนาการแล้ว เรายังสามารถพัฒนาสมองด้วยสมาธิ และพัฒนาศักยภาพของเราจากการพับโอริงามะได้ดีอีกด้วยครับ” บอสกล่าวทิ้งท้าย
“โอริงามิ” เป็นศาสตร์แห่งงานศิลป์ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยนำเสนอผ่านรูปแบบของงานศิลปะจากจินตนาการที่ไร้ขอบเขต เมื่อได้ลงมือทำอย่างตั้งใจและใส่ใจในคุณค่าของทุกชิ้นงานแล้ว นอกจากความภาคภูมิใจยังสามารถพัฒนาสมอง พัฒนาความคิดได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดอีกด้วย
ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิทยาศาสตร์สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
ดร.บัญชา ขณะกำลังสอนน้อง ๆ พับกระดาษอย่างตั้งใจ
ญดา หรือ นางสาวญดา เทพบุตร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โชว์ผลงานสุดประทับใจ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น