วิทยาศาสตร์ หรือ Science มีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินจากคำว่า Scientia มีความหมายว่า ความรู้ วิทยาศาสตร์จึงเป็นวิชาที่ว่าด้วยความรู้ ที่เกี่ยวพันกับสิ่งแวดล้อมและปรากฏการณ์ธรรมชาติ โดยผ่านการทดสอบ ทดลอง ซึ่งให้ผลเป็นรูปธรรมสามารถจับต้องได้ วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือหนึ่งที่พิสูจน์ความเชื่อจากการการตั้งสมมติฐาน ผ่านการทดสอบ จนได้บทสรุปของปรากฏการณ์ต่างๆออกมา
ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นพร้อมๆกับการกำเนิดมนุษย์ มนุษย์เราเรียนรู้และพยายามทำความเข้าใจธรรมชาติด้วยวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่อดีตแม้จะมีความเชื่อเข้ามาเจือผสมอยู่บ้าง แต่ความเชื่อที่ดูลี้ลับไร้คำอธิบายก็ถูกคลี่คลายโดยความรู้ทางวิทยาศาสตร์และความอยากรู้อยากเห็น มนุษย์ในอดีตสามารถใช้วิทยาศาสตร์สร้างอารยธรรมในแถบถิ่นต่างๆขึ้นมาได้ สร้างศิลปะวิทยา สร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่โตมโหราฬขึ้นมาจนกลายเป็นอารยะธรรมโบราณก็ล้วนแล้วแต่อาศัยความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์แทบทั้งสิ้น
วิทยาศาสตร์จึงมีความเกี่ยวพันกับมนุษยชาติมาอย่างลึกล้ำตั้งแต่ครั้งโบราณ ในประเทศไทยเมื่อเปลี่ยนระบบการศึกษาแสวงหาความรู้จากวัดวามาสู่สถาบันการศึกษา มีการสร้างโรงเรียนเพื่อถ่ายทอดสรรพวิทยาต่างๆ ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ก็ถูกนำมาสอนด้วย คณะวิทยาศาสตร์ในระดับอุดมศึกษาของไทยเกิดขึ้นพร้อมๆกับมหาวิทยาลัยแห่งแรกในปีพุทธศักราช 2459 คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สถาปนา มหาวิทยาลัยแห่งแรกขึ้นในประเทศไทย โดยเปลี่ยน มาจากโรงเรียน"โรงเรียนข้าราชการพลเรือนแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"
แรกเริ่มของการก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์ยังอยู่รวมกับคณะอักษรศาสตร์โดยมุ่งเน้นจะสอนวิชาวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานให้แก่นักศึกษาในคณะต่างๆ ที่ต้องใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานในการเรียนเช่น คณะแพทย์ศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ต่อมาคณะวิทยาศาสตร์ได้แยกตัวออกมาและแบ่งการเรียนการสอนออกเป็นสี่สาขาวิชาเอกคือ ชีววิทยา เคมี คณิตศาสตร์ และฟิสิกส์
เมื่อการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของไทยก้าวหน้าขึ้นมีการเปิดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษามากขึ้นก็มักจะมีการเรียนการสอนของคณะวิทยาศาสตร์รวมอยู่ด้วยเสมอ เพราะต่างเห็นความสำคัญของความรู้ในแขนงนี้
การเรียนในคณะวิทยาศาสตร์เป็นการเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของสิ่งต่างๆรอบกายโดยการมองด้วยสายตาวิทยาศาสตร์ ใช้ความเป็นเหตุเป็นผลช่วยแก้ปัญหา ความจำเป็นของศาสตร์แห่งวิทยาศาสตร์ก็ยิ่งกระจ่างชัดขึ้นในสังคมที่กำลังขับเคลื่อนไปด้วยกลไกของวิทยาศาสตร์จึงไม่น่าแปลกใจที่แทบทุกมหาวิทยาลัยจะเปิดการเรียนการสอนในคณะวิทยาศาสตร์ไว้ด้วยเสมอ วิทยาศาสตร์จำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ไม่ว่าจะเป็นงานในแขนงใดๆ
การเรียนในคณะวิทยาศาสตร์นั้นผู้เรียนอาจจะต้องอาศัยพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์อยู่บ้าง เพราะบางสาขาอาจจะต้องใช้การคำนวณค่อนข้างเยอะ การแบ่งสาขาวิชาเอกของแต่ละสถาบันมักจะแตกต่างกันไปแต่โดยสรุปแล้วสามารถแบ่งสาขาวิชาเอกของคณะวิทยาศาสตร์ออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ
กลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน
- คณิตศาสตร์
- ฟิสิกส์
- เคมี
- ชีววิทยา
กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์
- เคมีอุตสาหกรรม
- ปิโตรเคมีและวิทยาศาสตร์โพลิเมอร์
- เคมีเทคนิค
- วัสดุศาสตร์
- วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
- ฯลฯ
ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ย่อมประกอบอาชีพได้ในหลายหน่วยงาน แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ส่งเสริมการส่งออกจากภาคการเกษตรเป็นหลักแต่กระนั้นความรู้ในทางด้านวิทยาศาสตร์ก็สามารถช่วยให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น บัณฑิตจากคณะวิทยาศาสตร์สามารถเข้าทำงานได้ใน ภาครัฐ เอกชน หรือรัฐวิสาหกิจ โดยการทำงานจะเน้นไปตามสาขาวิชาที่ได้เรียนมา
อาชีพหนึ่งซึ่งกำลังมีบทบาทอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาประเทศของนักวิทยาศาสตร์คืออาชีพนักวิจัย เพราะสามารถใช้ความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างเต็มที เป็นอาชีพที่ได้ค้นคว้าสิ่งใหม่ๆ ท้าทายความสามารถ ได้คิดได้ประดิษฐ์ สิ่งใหม่ๆโดยใช้พื้นฐานความคิดทางวิทยาศาสตร์ ทั้งอาชีพนี้กำลังจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเต็มทีจากคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีเมื่อไม่นานมานี้ในงาน นักวิจัยรุ่นใหม่ พบเมธี วิจัยอาวุโส ครั้งที่ 9
โดยมีนโยบายของภาครัฐที่จะสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทางด้านการวิจัยในไทย 4 เรื่องหลักดังนี้
1.การกำหนดพันธกิจของมหาวิทยาลัย มีการเพิ่มงบประมาณสำหรับงานวิจัย
2.งานวิจัยต้องมีทิศทางกำหนดโจทย์และจัดสรรทุน การบริหารจัดการที่ต้องแตกต่างกัน
3.งานวิจัยพื้นฐานที่ส่งเสริมสนับสนุนเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี ควรมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนทั้งงานวิจัยภูมิปัญญาท้องถิ่น ชุมชน
4.การสนับสนุนให้เกิดคนทำงานวิจัยที่ดี โดยส่งเสริมให้มีการพัฒนานักศึกษาในสายวิทยาศาสตร์
หากมีการส่งเสริมจากภาครัฐที่ดีเพียงพอเชื่อว่าอาชีพนักวิจัยจะเป็นอาชีพที่น่าสนใจและนำพาความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มาสู่ประเทศชาติได้เป็นอย่างดี
อาชีพนักวิจัย
เป็นอาชีพที่สามารถใช้ความรู้ความสามารถได้อย่างเต็มทีไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบความคิด แต่เป็นการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาค้นหาคำตอบตามสมติฐานอาจจะเป็นการวิจัยโดยค้นหาองค์ความรู้จากวิทยาศาสตร์พื้นฐานหรือการค้นหาคำตอบเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆก็ได้ การทำงานของนักวิจัย จะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในห้องทดลองเพื่อศึกษาค้นคว้างานตามที่ตนเองตั้งเป้าหมายเอาไว้ แต่งานนักวิจัยก็หาใช่จะจำเจอยู่ในห้องทดลองเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับงานวิจัยชิ้นนั้นๆด้วยว่าต้องการหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องอะไร บ้างครั้งงานวิจัยก็ต้องอาศัยการทำการทดลองนอกห้องปฎิบัติการอยู่บ้างเหมือนกัน ดังนั้นห้องปฏิบัติการของนักวิจัยจึงย่อมจะเป็นไปได้ทั้ง ห้องปฎิบัติการทางวิทยาศาสตร์และห้องปฎิบัติการตามธรรมชาติ
ขั้นตอนทำงานของนักวิจัยมัก เริ่มต้นตั้งแต่การวางแผนสำหรับงานวิจัย เดินทางไปศึกษาถึงสารตัวอย่างที่จะใช้ในการวิจัย เก็บรวบรวมตัวอย่างต่างๆ เพื่อมาศึกษาในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ทำการวิเคราะห์เชิงสถิติในข้อมูลที่ได้จากการทดลองและทำรายงานผลการวิเคราะห์ เป็นต้น
งานทางด้านการวิจัยสามารถแยกย่อยออกได้เป็นสามลักษณะคือ
1.วิจัยพื้นฐาน (Basic Research)
2.วิจัยประยุกต์(Applied Research)
3.วิจัยเพื่อพัฒนา (Development Research)
อาชีพนักวิจัยถือเป็นอาชีพที่กำลังต้องการมากในกระบวนการผลิต การเป็นนักวิจัยในบริษัทเอกชนแน่นอนว่างานวิจัยย่อมต้องครอบคลุมและตอบสนองความต้องการขององค์กรส่วนการทำงานวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการศึกษานั้นในอดีตการทำงานของนักวิจัยไทยมักจะมาในรูปของอาจารย์ตามสถาบันการศึกษาต่างๆที่ใช้เวลาว่าง มาช่วยพัฒนาและสร้างงานวิจัยทำให้ไม่สามารถทุ่มเทความรู้ความสามารถเพื่องานวิจัยได้อย่างต่อเนื่องและเต็มที แต่ปัจจุบันนักวิจัยอาชีพในเมืองไทยเริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้นทั้งในบริษัทเอกชน และในภาครัฐอย่าง อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (TSP) หรือ "นิคมวิจัยแห่งแรกของเมืองไทย" ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นับเป็นก้าวย่างที่ดีของอาชีพนักวิจัยที่ทำงานเต็มเวลา และสามารถทุ่มเทความรู้ความสามารถให้กับงานวิจัยได้อย่างเต็มที
การพัฒนางานวิจัยนั้น นักวิจัยเป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งเพราะหากมีนักวิจัยที่มีความสามารถมีความรอบคอบก็ย่อมจะส่งผลให้ได้งานวิจัยที่มีคุณภาพไปด้วย ดังนั้น นโยบายของรัฐในการเสริมสร้างงานวิจัยให้แข็งแกร่งและสนับสนุนในการสร้างนักวิทยาศาสตร์จึงเป็นเรื่องที่น่าจะทำให้บรรยายการงานวิจัยในเมืองไทยพัฒนาขึ้นไปได้อีกระดับ
วิทยาศาสตร์อาจจะไม่ใช่ทุกสิ่งของโลกนี้ แต่วิทยาศาสตร์ ก็เผยให้เห็นความลับของธรรมชาติอย่างมีเหตุผล มันอาจจะเป็นเสน่ห์ของการค้นคว้าวิจัยที่พร้อมจะสร้างสิ่งแปลกใหม่ด้วยวิทยาศาสตร์
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น