เป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใช้เลนส์ในการรวมแสง สามารถพบเห็นโดยทั่วไป มีใช้กันอย่างแพร่หลาย กล้องโทรทรรศน์แบบหักเหแสงส่วนมากมีขนาดเล็ก เหมาะสำหรับใช้สังเกตการณ์พื้นผิวดวงจันทร์และดาวเคราะห์ เนื่องจากให้ภาพคมชัด แต่มีข้อเสียคือ เมื่อส่องดูดาวที่สว่างมาก อาจมีความคลาดสี ถ้าหากคุณภาพของเลนส์ไม่ดีพอ
ภาพที่ 1 กล้องโทรทรรศน์แบบหักเหแสง
กล้องโทรทรรศน์แบบหักเหแสงโดยทั่วไป ไม่เหมาะกับงานสำรวจ เนบิวลา และกาแล็กซี เนื่องจากเทห์วัตถุประเภทนี้มีความสว่างน้อย จำเป็นต้องใช้กำลังรวมแสงสูง เลนส์ขนาดใหญ่ที่มีความยาวโฟกัสสั้น สร้างยาก และมีราคาแพงมาก เลนส์ที่มีขนาดใหญ่ ทำให้ลำกล้องยาวและมีน้ำหนักมาก ไม่สะดวกต่อการใช้งาน
กล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง (Reflector)
กล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสงถูกคิดค้นโดย “เซอร์ ไอแซค นิวตัน” จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “กล้องโทรทรรศน์แบบนิวโทเนียน” (Newtonian telescope) กล้องโทรทรรศน์ชนิดนี้ใช้กระจกเว้าแทนเลนส์นูน ทำให้มีราคาประหยัด กระจกขนาดใหญ่ให้กำลังรวมแสงสูง จึงเหมาะสำหรับใช้สังเกตการณ์ เทห์วัตถุที่อยู่ไกลมากและไม่สว่าง เช่น เนบิวลา และกาแล็กซี ถ้าเปรียบเทียบกับกล้องแบบหักเหแสง ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากันแล้ว กล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสงจะมีราคาถูกกว่าประมาณสองเท่า
ภาพที่ 2 กล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง
อย่างไรก็ตาม กล้องนิวโทเนียนมีกระจกทุติยภูมิ ตรงปากลำกล้อง เพื่อสะท้อนแสงฉากขึ้นสู่เลนส์ตา ซึ่งอยู่ทางข้างลำกล้อง จึงเป็นอุปสรรคขวางทางเดินของลำแสง เมื่อเปรียบเทียบกล้องแบบหักเหแสงที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากัน กล้องแบบหักเหแสงจะให้ภาพสว่างและคมชัดกว่า) และในทำนองเดียวกับกล้องชนิดหักเหแสง ยิ่งใช้กระจกขนาดใหญ่และมีความยาวโฟกัสมากขึ้น ลำกล้องก็จะต้องใหญ่โตเทอะทะ และมีน้ำหนักมาก
กล้องโทรทรรศน์แบบผสม (Catadioptic)
ภาพที่ 3 กล้องโทรทรรศน์แบบผสม
กล้องโทรทรรศน์แบบผสมแบ่งเป็นชนิดย่อย ๆ ได้หลายชนิด อาทิเช่น ชมิดท์-แคสสิเกรนส์ (Schmidt-Cassegrains), มักซูตอฟ-แคสสิเกรนส์ (Maksutov-Cassegrains) ซึ่งแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกันไป ตามองค์ประกอบทางทัศนูปกรณ์ ซึ่งอาจใช้เลนส์หรือกระจกผสมกัน แต่โดยหลักการแล้ว กล้องประเภทนี้เป็นกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง ซึ่งใช้กระจก 2 ชุด สะท้อนแสงกลับ ไป-มา เพื่อช่วยลดความยาวและน้ำหนักของลำกล้อง กล้องโทรทรรศน์แบบผสมบางชนิด อาจมีการนำเอาเลนส์มาใช้ในการแก้ไขภาพให้คมชัด แต่มิใช่เพื่อจุดประสงค์ในการรวมแสง ดังเช่น เลนส์ของกล้องแบบหักเหแสง เราจะพบว่า กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ที่อยู่ในหอดูดาว ส่วนใหญ่ มักจะเป็นกล้องโทรทรรศน์แบบนี้
ขาตั้งกล้องโทรทรรศน์ แบ่งเป็น 2 ประเภท
1. ขาตั้งแบบอัลตาซิมุธ (Alt-azimuth) เป็นขาตั้งแบบพื้นฐาน ซึ่งหันกล้องได้ 2 แกน คือ หันตามแนวราบทางข้าง และกระดกขึ้นลงในแนวดิ่ง ขากล้องชนิดนี้เหมาะสำหรับการใช้งาน ดูวิวทั่วไป ดูนก หรือดูดาว ซึ่งไม่ใช้กำลังขยายสูง โดยทั่วไปจะพบเห็นใน 2 ลักษณะคือ แบบสามขา (Tripod) และแบบด๊อบโซเนียน (Dobsonian) ซึ่งใช้กับกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง
ภาพที่ 4 ขาตั้งกล้องแบบอัลตาซิมุธ (ด๊อบโซเนียน)
2. ขาตั้งแบบอีเควทอเรียล (Equatorial Mount) เป็นขาตั้งซึ่งมีแกนเอียงขนานกับแกนของโลก แกนนี้จะเล็งไปยังตำแหน่งขั้วฟ้า (ใกล้ดาวเหนือ) และหมุนด้วยความเร็วเท่ากับโลกหมุนรอบตัวเอง ทำให้ลำกล้องชี้ไปยังดาวที่ต้องการตลอดเวลา (เรามองเห็นดาวบนฟ้าเคลื่อนที่เนื่องจากโลกหมุนรอบแกนของตัวเอง) ขากล้องชนิดนี้เหมาะ สำหรับการดูดาวที่ต้องใช้กำลังขยายสูง และงานถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ แต่ไม่เหมาะสำหรับในการส่องดูวิวบนพื้นโลก เนื่องจากแกนหมุนของกล้องเอียง ทำให้การกวาดกล้องไปตามขอบฟ้า ทำได้ยากลำบาก นอกจากนั้นขาตั้งกล้องแบบนี้ ยังมีน้ำหนัก และราคาสูงมาก
ภาพที่ 5 ขาตั้งกล้องแบบอีเควทอเรียล
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น